เมื่อคุณต้องการจะซื้อเครื่องประดับสักชิ้น คุณเคยมีคำถามเกิดขึ้นในใจรึเปล่า เช่น เงินแท้จริงไหม ชุบแพลตตินัมจริงไหม ใส่แล้วจะลอกไหม ใส่แล้วจะแพ้ไหม คันไหม ฯลฯ ความจริงแล้วใครจะสามารถการันตีได้ ในเมื่อตลาดเครื่องประดับไทยไม่มีมาตรฐานหรือองค์กรของรัฐมาควบคุม ผู้ที่มีเงินทุนสามารถเปิดร้านขายเครื่องประดับได้โดยไม่ต้องมีใบรับรองใดๆ ไม่ว่าจะเป็น ร้านเพชร ร้านพลอย ร้านเงิน ร้านทอง ที่เห็นอยู่ทั่วไปตามห้าง แหล่งชุมชน ข้างถนน และในอินเตอร์เน็ต โดยที่หลายร้านแจ้งคุณสมบัติสินค้าไม่ตรงตามข้อเท็จจริง หรือเรียกว่า โฆษณาเกินจริงนั่นเอง
ประเด็นคือ ผู้ขายไม่มีความรู้ ส่วนใหญ่เป็นลักษณะซื้อมาขายไป โดนหลอกขายมาก็หลอกขายลูกค้าต่อ ซึ่งไม่เหมือนต่างประเทศ ผู้ขายต้องจบด้านนี้โดยเฉพาะ และต้องสอบใบอนุญาตเป็นนักเครื่องประดับและนักออกแบบ เรียนกันปลายปี ถึงจะสามารถสอบเอาใบรับรองมาเปิดร้านของตัวเองได้ เพราะเครื่องประดับเป็นเรื่องของโลหะและสินแร่ชนิดต่างๆ ซึ่งบางชนิดมีการเล่นแร่แปรธาตุ มีส่วนผสมทางเคมีเข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งต้องใช้ความชำนาญและความรู้เฉพาะทาง ดูคล้ายๆกับร้านขายยาที่ต้องมีเภสัชกรคอยแนะนำควบคุม ร้านขายเครื่องประดับเองก็ควรต้องมีนักอัญมณีศาสตร์คอยควบคุมดูแลเช่นกัน
หลายร้านคนขายไม่มีความรู้ ก็ขายตามความเข้าใจของตัวเองแบบปากต่อปาก จากรุ่นสู่รุ่น จากร้านนี้ไปอีกร้านหนึ่ง เช่น โฆษณาว่าแหวนเงินแท้ชุบแพลตตินัม ราคาหลักร้อยบาท คนก็แห่ซื้อกันจำนวนมาก เพราะเห็นว่าราคาถูก ทั้งนี้เป็นเพราะ คนส่วนใหญ่ไม่ทราบข้อเท็จจริงที่ว่า “แพลตตินัมราคาแพงกว่าทองคำถึง 2 เท่า” ดังนั้นที่คนขายแจ้งว่าเงินแท้ชุบแพลตตินัมนั้น ไม่มีทางเป็นความจริง เพราะถ้าชุบแพลตตินัมจริงๆ ราคาต้องไม่ใช่หลักร้อยบาท หากผู้ขายมีจรรยาบรรณและให้ข้อมูลตามความเป็นจริงกับลูกค้า ผู้ซื้อย่อมพิจารณาได้เองว่าราคากับคุณภาพนั้นสมเหตุสมผลหรือไม่ และควรซื้อหรือไม่
ดังนั้นขอยกประเด็นเรื่องเครื่องประดับเงิน มาจำแนกให้ผู้ซื้อได้มีความรู้ความเข้าใจก่อนตัดสินใจซื้อเครื่องประดับเงินต่างๆ
1. เงินเทียม เงินไม่แท้ ทำเหมือนเงิน
คือการใช้โลหะจำพวก ทองเหลือง ทองแดง ตะกั่ว หรือสังกะสี ซึ่งเป็นโลหะราคาถูกในการขึ้นรูปทำตัวเรือน เสร็จแล้วนำมาชุบโครเมียม ชุบโรเดียม หรือชุบนิกเกิล ให้เกิดเป็นสีเงินแวววาว เครื่องประดับเงินประเภทนี้จึงมีต้นทุนการผลิตถูกมากๆ สามารถทำทีละเยอะๆได้ (Mass) ดังที่เราเห็นเครื่องประดับจากจีนที่ขายชิ้นละไม่กี่สิบบาท
วิธีการแยกแยะ ให้สังเกตจากตัวเรือนที่ทำไม่ค่อยเรียบร้อย การชุบไม่สม่ำเสมอ บางจุดอาจไม่ค่อยเงา ดูด้านๆ เพราะคุณภาพการชุบที่ทำทีละเยอะๆ เน้นถูกและไว ไม่ประณีต ไม่มีการตอกสัญลักษณ์ 925 น้ำหนักตัวเรือนจะค่อนข้างหนักกว่าเครื่องประดับเงินแท้ อายุการใช้งานก็สมกับราคา คือใช้ได้ไม่กี่ครั้งก็ลอก ดำ สามารถใช้แล้วทิ้งได้ และไม่นิยมนำกลับมาชุบใหม่ เพราะมีค่าใช่จ่ายสูงไม่คุ้มค่า
ผลกับผู้ใส่ อาจเกิดอาการแพ้จากส่วนผสมการชุบที่มีทั้ง นิกเกิล ทองเหลือง รวมถึงสารเคมีอื่นๆในน้ำยาชุบ ที่อาจทำอันตรายกับผิวของผู้สวมใส่ได้ เช่น มีอาการคัน แสบ เป็นผื่นแพ้ หรือผิวไหม้ได้
2. เงินแท้แต่แท้ไม่หมด เงินไม่เต็ม
เครื่องประดับประเภทที่ 2 นี้พิสูจน์ยากด้วยการสัมผัสหรือดูด้วยตาเปล่า เพราะกระบวนการผลิตเหมือนกับเครื่องประดับเงินแท้ทุกประการ การชุบและการขึ้นรูปก็เหมือนกัน แตกต่างกันที่ส่วนผสมที่ใช้ เขาจะลดต้นทุนลงโดยการผสมเนื้อเงินแท้ให้น้อยลง แล้วใส่พวกอัลลอย์ ทองแดง สังกะสี ลงไปให้มากขึ้น คือไม่เป็นไปตามเกณฑ์ของเงิน 925 ที่ต้องมีเนื้อเงินบริสุทธิ์ 92.5% และโลหะอื่น 7.5% ของน้ำหนัก ทำให้สีของตัวเรือนที่ผลิตได้ในตอนแรกจะดูด้านๆ ขัดแล้วไม่เงา และไม่ค่อยขาว เพราะใส่ส่วนผสมอย่างอื่นลงไปมากกว่าเงิน จึงต้องนำไปชุบนิกเกิล หรือชุบโรเดียม เพื่อปรับสี เพิ่มความเงางามก่อนการจัดจำหน่าย ซึ่งทำให้สินค้าดูสวยน่าซื้อขึ้นมาทันที
วิธีการแยกแยะ คงต้องวัดใจกับผู้ขาย ดูความน่าเชื่อถือของร้านค้า การรับประกันสินค้า การบริการหลังการขาย เพราะเครื่องประดับแบบเงินไม่เต็มนี้ จะก่อปัญหาให้ผู้ขายที่ไม่ซื่อสัตย์ในที่สุด เพราะเงินไม่เต็ม เมื่อใช้ไปนานๆจะด้านและเปลี่ยนสี อาจลอกเป็นแผ่น หรือด่างเป็นวงๆ ขัดล้างไม่หาย ซึ่งเมื่อเจอแบบนี้ ลูกค้าย่อมทราบทันทีว่านี่ไม่ใช่เงินแท้ 925 ตามมาตรฐาน ลูกค้าจะบอกต่อในทางไม่ดี อาจทำลายความน่าเชื่อถือให้ผู้ขายเสียชื่อเสียงในที่สุด
ผลกับผู้ใส่ สารเคมีที่ใช้ในน้ำยาชุบ อาจทำอันตรายกับผิวของผู้สวมใส่ได้ เช่น มีอาการคัน แสบ เป็นผื่นแพ้ หรือพุพอง